๕ – ออกบวช
อาจารย์ ญาณิโก
วัดพุทธเรามีภารกิจสำคัญคือ การอำนวยโอกาสให้ชาวโลกได้สละวิถีโลกปุถุชนสู่การบรรพชาเป็นสมณะ ในสังคมวัฒนธรรมพุทธแต่ดั้งเดิมเช่นประเทศไทยนั้น มีหลากหลายเหตุผลที่ใครสักคนจะจากบ้านและครอบครัวออกบวชเรียนระยะสั้นหรือยาวก็ตาม เช่น การบวชเพื่อสร้างบุญกุศลตอบแทนพระคุณบิดามารดา หรือเพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นเกียรติแด่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ หรือเพื่อศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม หรือแม้แต่เพื่อที่ชายหนุ่มจะได้เตรียมฝึกใจให้พร้อมสู่การครองเรือน ทว่า ก็ยังมีแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่านั้น จากศรัทธาอันแรงกล้าต่อหนทางแห่งอริยมรรคและความเป็นไปได้ในการพ้นทุกข์ บางคนก็แสวงหาความสุขที่แท้จริงในชีวิตปุถุชนไม่ได้ จึงออกเสาะหาวิถีอื่นที่ไม่ใช่ฆราวาสอีกต่อไป
กรณีของวัดอภัยคีรีนั้น เราจัดพิธีบวชอนาคาริกหรือผู้ครองผ้าขาว ซึ่งหลังการเป็นอนาคาริกราวหนึ่งปี ต่อไปก็ขออนุญาตคณะสงฆ์เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร สู่ร่มกาสาวพัตร์นุ่งห่มผ้าจีวรสงฆ์ ถือศีลสิบข้อ พร้อมกับรับชื่อใหม่เป็นภาษาบาลี แหละเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ อนาคาริกจาชก็ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรและมีนามใหม่ว่า ยสะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวถึงแรกๆ ในสมัยพุทธกาล ดังกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก คัมภีร์มหาวรรค เล่ม 4 ภาค 1 หน้า 62-63 เรื่องยสกุลบุตร ว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล ในพระนครพาราณสี มีกุลบุตรชื่อ ยสะ เป็นบุตรเศรษฐีสุขมาลชาติ ยสกุลบุตรมีปราสาท ๓ หลังคือ หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝน…ค่ำวันหนึ่ง เมื่อยสกุลบุตรอิ่มเอิบพร้อมพรั่งบำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ได้นอนหลับก่อน คืนนั้นยสกุลบุตรตื่นขึ้นก่อน และได้เห็นบริวารชนของตนกำลังนอนหลับ ปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจป่าช้าผีดิบ ครั้นแล้วความเห็นเป็นโทษได้ปรากฏแก่ยสกุลบุตร จิตตั้งอยู่ในความเบื่อหน่าย จึงเปล่งอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
แล้วสวมรองเท้าทองเดินไปยังประตูนิเวศน์…ต่อไปยังประตูพระนคร…แล้วเดินต่อไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ครั้งนั้นปัจจุสมัยแห่งราตรี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นบรรทมแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้ง ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วเสด็จลงจากที่จงกรมประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้
ขณะนั้นยสกุลบุตรเปล่งอุทานในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
ทันทีนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะยสกุลบุตรว่า”ดูก่อนยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยสะ นั่งลง เราจักแสดงธรรมแก่เธอ”
ที่นั้น ยสกุลบุตรร่าเริงบันเทิงใจเมื่อได้ยินว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” ดังนี้แล้ว ถอดรองเท้าทองเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือทานกถา สีลกถาสัคคกา (ทาน ศีล สวรรค์) และโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ของการออกจากกาม เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า ยสกุลบุตรมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบานผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาจำเพาะที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับไปเป็นธรรมดา.
ที่วัดเราในคืนเดียวกันนั้นเอง เอรอน เรมิงตัน และเดพ เก็ทช์แมน ก็ได้เข้าพิธีบวชเป็นอนาคาริก เดพได้อาสาช่วยวัดช่วงเข้ากรรมฐานฤดูหนาวมาสองปีติดต่อกัน และยังอยู่ดูแลวัดต่ออีกในระหว่างโรคไวรัสระบาดพร้อมด้วยการเตรียมเข้าบวชเป็นผ้าขาวอนาคาริก ส่วนเอรอน หรือเดิมก็คือท่านฐิตาโภนั้น คืนกลับมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจบวชอีกครั้ง
การบวชของอนาคาริกสองคนและสามเณรหนึ่งรูปกำหนดขึ้นในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหก พระจันทร์เต็มดวงกลางเดือนพฤษภาคม วันนี้สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในป่า วันที่ท่านทรงเข้าถึงการตื่นรู้อย่างแท้จริงหรือตรัสรู้ในป่า และเป็นวันที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในป่า วันเดือนเดียวกันแม้ปีจะต่างกัน เราจึงคงนึกภาพถึงป่าได้ในวันนี้
เมื่อสู่การบวชเรียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม ผู้บวชจะได้รับการฝึกฝนให้ได้รสชาติของการใช้ชีวิตแห่งป่า อยู่อย่างเรียบง่ายในกุฏิหลังเล็กๆ และของใช้ส่วนตัวเพียงน้อยชิ้น เมื่อเวลาผ่านไปและผู้บวชมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงป่าที่มีอากาศอันสดชื่นพร้อมกับเสียงนกร้องเจื้อยแจ้วแล้ว จิตอันรุ่มร้อนและฟุ้งด้วยความคิดก็จะเริ่มสู่ความสงบเย็น
อาตมาไม่ได้หมายความว่า การใช้ชีวิตแห่งป่าที่มีอากาศสดชื่นพร้อมเสียงนกร้องไพเราะจะเป็นเรื่องง่าย การที่ไม่มีอะไรเข้ามารบกวนจิตใจนั้นนำจิตเพ่งเข้าภายใน อาจกลายเป็นแรงพัดกระพือไฟเก่าที่ไม่ทันมอดดับในอดีตให้ระอุครุกรุ่นขึ้นมาอีก หรือไม่ก็ตั้งความคาดหวังให้บรรลุผลการปฏิบัติธรรมในอนาคตข้างหน้า นั่งภาวนาอยู่ในกุฏิเล็กๆ ท่ามกลางทำเลอันสวยงามก็อาจสร้างความทุกข์ได้ แต่ว่า เมื่อเราได้สติ เราก็นำจิตคืนสู่ปัจจุบัน เป็นกลางๆไม่มุ่งสู่ภายใน หรือว่าภายนอกมากเกินไป ด้วยสตินี่เองภาพทรงจำของธรรมชาติแห่งป่าก็จะหวลคืน แหละความรู้สึกสงบก็เกิดขึ้นได้
ไม่ว่าจะเป็นผู้มาเยือนขอพำนักชั่วคราวหรือผู้สมัครฝึกฝนเป็นอนาคาริก ต่างก็ต้องถือศีล 8 ข้อ ที่รวมเป็นแก่นของศีลธรรมและการสละซึ่งกามสุขทั้งหลาย แหละเมื่อขอเข้ารับการบรรพชาแล้วก็ต้องตั้งมั่นในการถือปฏิบัติตามศีล 10 ข้อ ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นการเพิ่มจากศีลแปดมาอีกหนึ่งข้อนั่นเอง คือการไม่รับและใช้เงิน ส่วนศีลข้อเจ็ดในศีลแปดข้อนั้นก็แยกออกมาเป็นสองข้อ (ละเว้นจากการดูฟังฟ้อนรำขับร้องประโคมเครื่องดนตรีและดูการละเล่นต่างๆ ละเว้นจากการทัดทรงตกแต่งร่างกายด้วยเครีองประดับและดอกไม้ของหอมเครี่องทาเครื่องย้อม) รวมแล้วก็เป็นศีลสิบ การที่มีศีลข้อไม่รับและใช้เงินนั้นบัญญัติไว้เพื่อที่ภิกษุสามเณรผู้มีบาตรอยู่จะได้ดำเนินชีวิตสมณะที่ต้องพึ่งพิงอาศัยญาติโยมโดยแท้ ในเมืองไทย ก็มีการเล่นคำที่เสียงเหมือนกันสองคำ คือ บาท และ บาตร มีสำนวนที่ว่า “เมื่อบวชแล้ว ก็ไม่ต้องใช้เงินบาท ใช้เพียงหนึ่งบาตรเท่านั้น ที่ช่วยให้ดำรงชีวิตไปได้ตราบที่ยังบวชเป็นสมณะอยู่ ไม่ว่าจะนานเพียงใดก็ตาม”