๖ - ทำไม้กวาดมากวาดวัด
อาจารย์ ญาณิโก
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่แบนธนากโรท่านสอนเรื่องการปัดกวาดหรือใช้ภาษาเก่าว่า “ปัดตาด” ไว้ดังนี้ - “เวลาปัดตาด พากันตั้งใจปัดตาด ถือการปัดตาดนั้นเป็นการทำความพากความเพียรจริงๆ พิจารณาธรรม พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ระหว่างปัดตาดไปนั้น ใจก็จะมีความเบิกบานรื่นเริง แล้วก็มีความเพลิดเพลินอยู่ในข้อวัตรนั้นๆ”
ในวัดเรา มีงานกวาดค่อนข้างมากซึ่งใช้ไม้กวาดสองประเภท ทั้งไม้กวาดอ่อนและไม้กวาดแข็ง ไม้กวาดทางมะพร้าวแข็งตามแบบไทยแต่ดั้งเดิมนั้นมีด้ามยาวและเส้นไม้กวาดเหลาจากก้านมะพร้าว เราใช้กวาดถนนเข้าวัด ทางคนเดิน และทางเดินจงกรม ส่วนไม้กวาดอ่อนนั้นมีด้ามไม้ไผ่ทำจากดอกหญ้าพื้นเมืองเอเชีย เช่นหญ้าแขม ตองกง หรืออ้อ ไม้กวาดอ่อนนั้นเหมาะที่จะไว้กวาดนอกชานและพื้นศาลา ไม้กวาดทั้งสองชนิดทำด้วยมือ ถ้าไม่นับรุ่นใหม่ๆ ที่ทำด้วยพลาสติกจากโรงงาน ในประเทศตะวันตกอย่างอเมริกานั้นเราหาซื้อไม้กวาดอ่อนได้จากร้านขายของเอเชีย ส่วนไม้กวาดแข็งด้ามยาวๆนั้นเราต้องทำกันเอง
มาพูดถึงการทำไม้กวาดแข็งกัน ด้ามยาวนั้นเป็นไม้ ซึ่งในเมืองไทยก็ใช้ไม้ไผ่ ส่วนที่วัดอภัยคีรีนี้เราใช้ต้นสนดักลาสเฟอร์ที่ยังเล็ก หรือไม่ก็หาต้นเมนซานิต้าตัดเอาท่อนที่ตรงๆ แต่ตัวเส้นไม้กวาดก็ยังต้องส่งก้านเหลาจากทางมะพร้าวมาจากประเทศไทย เนื่องจากยังไม่พบก้านอะไรในเมืองหนาวที่ดีเท่า เราจะนำก้านมามัดติดกับด้ามอย่างไรนั้นก็แล้วแต่คนทำ จะทำแบบเร็วก็ได้ โดยเอาก้านมะพร้าวมาทำเป็นกำเดี่ยวแล้วมัดเข้ากับปลายด้ามด้วยเส้นยางพารา หรือว่าจะทำด้วยวิธีช้าแต่น่าจะแน่นหนาเส้นไม้กวาดไม่หลุดง่ายด้วยการเอาก้านมะพร้าวมามัดด้วยหนังยางเป็นกำเล็กๆ ราว 8 ก้านต่อกำ แล้วค่อยพันรอบด้ามด้วยสายเชือกผูกเป็นเงื่อนตาย เส้นไม้กวาดจะถูกจัดเรียงให้ปลายบานออกราวพัดมาจากอีกด้านที่มัดแน่นไว้กับด้ามซึ่งเราพันด้วยเส้นยางพาราหรือแผ่นผ้าให้ดูดีเรียบร้อย
อาตมาเองได้เรียนการทำไม้กวาดแบบช้าแต่คงทนช่วงไปจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เต่าดำ กาญจนบุรี เมื่อหลายปีก่อน โดยมีพระอาจารย์หสปัญโญเป็นครูสอนทำไม้กวาด และที่วัดเราก็ได้ครูเก่งๆสอนทำไม้กวาดคือ พระอาจารย์เสกและพระอาจารย์โกวิโล เมื่อพระสงฆ์มาชุมนุมร่วมทำไม้กวาดกันคราวละ 2-3 ชั่วโมง ก็เป็นโอกาสอันดีที่นอกจากจะได้เรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้านไทยแล้ว ยังได้สนทนาธรรมพร้อมสร้างความกลมเกลียวในหมู่คณะด้วย
เมื่อทำไม้กวาดเสร็จ ก็ได้เวลาทดสอบคุณภาพและใช้งานกันจริงๆ เสียที ไม้กวาดที่ด้ามยาวมากนี่เหมาะกับการกวาดถนนเข้าวัด เพราะหมุนกวาดเป็นวงกว้างได้ดี ส่วนที่ด้ามสั้นเหวี่ยงวงแคบก็ไว้ไปกวาดทางเดินบนเขา ทางประเทศตะวันตกนั้น บางทีก็กวาดทางเดินโดยใช้คราด ซึ่งจะเป็นคราดหรือไม้กวาดแข็งก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน หากเรากวาดอย่างมีสติและอย่างเรียบร้อยย่อมดีทั้งนั้น ในราวหนึ่งชั่วโมงเราก็จะได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา คือ ทางเดินอันสะอาดเรียบและสวยงาม และแล้ว…ใบไม้ก็ร่วงลงมาอีก ซึ่งก็มากวาดกันอีก น่านำมาใช้พิจารณาเห็นอนิจจังอันไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน
เมื่อกวาดทางเดิน เราได้แสดงความเมตตากรุณาต่อสัตว์ตัวจิ๋วๆ ที่อาจอยู่ใต้ใบไม้ที่เราอาจเดินเหยียบย่ำหากมองไม่เห็น การมีทางเดินอันสะอาด เราก็จะเห็นง่ายว่ามีแมลงเต่าทอง มด กิ้งกือ หรือแม้กระทั่งงูไหม เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการเดินเหยียบสัตว์เหล่านั้น ส่วนเทคนิคการกวาดนั้นมีความแตกต่างกันบ้างจากวัดสู่วัด เช่น สมัยก่อนที่วัดป่าพงซึ่งมีสภาพเรียบและเป็นดินทราย หลวงปู่ชาท่านมักแนะลูกศิษย์ให้กวาดจากขอบทางสู่ตรงกลาง ซึ่งจะช่วยรักษาทางไม่ให้กร่อนเป็นร่อง และทรายไม่เข้ามากองกลางทางเดิน ในฤดูฝนนั้นน้ำก็จะได้ระบายออกสองข้างทางไม่มาเจิ่งอยู่ในทางเดิน ส่วนที่วัดอภัยคีรีนั้น เรามีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและมีหินมาก ทำให้ทางเดินมักเหมือนผลิตหินออกมาเรื่อยๆ จากการมีก้อนหินหล่นไหลลงมาจากเขา ฉะนั้น เราต้องกวาดจากด้านผนังเขาออกสู่นอกขอบเขา นอกจากนี้บริเวณที่ลาดชันยังมีการทำขั้นบันไดโดยตอกแผ่นไม้ยึดไว้ ซึ่งก็กลายเป็นที่สะสมใบไม้เป็นกองขึ้นมา เมื่อเป็นดังนี้ การกวาดก็ต้องระงับไว้ก่อนแล้วก้มลงเก็บใบไม้เหล่านั้นโยนทิ้งลงขอบเขาไป เมื่อผ่านบริเวณขั้นบันไดแล้วก็ค่อยกวาดต่อไป
ช่วงกวาดทางเดินในป่า เราก็สามารถสังเกตเห็นใบไม้จากหลากหลายพืชพันธุ์ ใบของต้นมาโดรน่าค่อนข้างใหญ่และหนานิด ทำให้กวาดได้ง่ายกว่าใบบางจากต้นโอ้คส์ เมื่อกล่าวถึงต้นโอ้คส์นั้นที่วัดเรานับได้กว่า 12 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงประเภทใบมีขอบแหลมคล้ายกับหนาม เช่นพันธุ์แทนโอ้คส์ เมื่อเรากวาดใบแหลมๆ นี้ออกจากทางเดินก็จะมีพระสงฆ์ที่นึกขอบคุณที่ไม่เจ็บเท้าเหมือนเมื่อยามเหยียบใบแหลมๆ เวลาเดินเท้าเปล่า
การกวาดเป็นการใช้เวลาอยู่กับป่าที่ดี ถ้าตัดสินใจไปกวาดทางเดินส่วนหนึ่งในยามว่างช่วงบ่าย ก็อาจได้พบสถานที่เหมาะเพื่อหยุดพักและนั่งลงภาวนา อาจนำสู่การหยั่งรู้ที่แผ่กว้างให้สังเกตเห็นกวางสักตัว หรือนกเสียงเพราะที่ออกไข่น้อยๆ ไว้ในรัง นับว่าเป็นวิธีอันฉลาดแห่งการนำจิตสู่ความสงบอย่างหนึ่ง นั่งภาวนาสักพักแล้วก็อาจลุกขึ้นจับไม้กวาดมากวาดต่อไป ความตั้งใจคือการให้จิตสู่ความสงบชื่นบาน มากกว่าการต้องกวาดทางเดินให้เกลี้ยง
เมื่อวันเวลาผ่านไป นวัตกรรมใหม่ๆในการทำความสะอาดถนนหนทางก็ตามมา ตอนนี้วัดเรามีเครื่องเป่าใบไม้ด้วยแบตเตอรี่แล้ว และทุกเช้าเวลา 6.30 ถึง 7.00 น. ญาติโยมอาจจะได้พบหลวงพ่อปสันโนใช้เครื่องนี้เป่าใบไม้และฝุ่นบริเวณศาลาและถนนเข้าวัดอยู่ก็ได้
ดังที่หลวงปู่แบนสอนไว้ว่า –
“ใบไม้กิ่งไม้ร่วงหล่นนั่นแหละเขาแสดงความเป็น”ธรรม”ของเขา ธรรมอันทุกสิ่งเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดต้องมีการเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นทีแรกเขาก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แล้วเขาก็เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงมาเป็นใบไม้ร่วง เป็นใบไม้แห้ง อันนี้ก็เป็นธรรม ธรรมเหล่านี้แหละล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งนั้น ถ้าหากว่าใจของเราค้นคิดอยู่ในธรรมเหล่านี้เป็นอารมณ์ ใจของเราก็มีความเพลิดเพลินรื่นเริงอยู่ในขอบเขตของความสงบ ถ้าหากว่าไม่ปรารภความสงบไว้ในจิตในใจ การปัดตาดก็สักแต่ว่า ปัดไปอย่างนั้นแหละ…”