คำขอบคุณและอนุโมทนา จากพระอาจารย์ญาณิโก

คำขอบคุณและอนุโมทนา จากพระอาจารย์ญาณิโก

เจริญพร สหายธรรมทุกๆท่าน

อาตมาอยากจะใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณทุกๆท่าน ที่ช่วยให้งานกฐินของวัดอภัยคีรีในปี 2022 สำเร็จลงด้วยดี ทางวัดได้รับความช่วยเหลือมากมายทั้งจากคณะสงฆ์และฆราวาสหลายๆท่าน บางท่านอาสาช่วยวัดในการดูแลเรื่องจอดรถ, บางท่านช่วยเตรียมผ้าขาวสำหรับทอดกฐิน, หลายท่านช่วยเตรียมอาหารและตกแต่งศาลา เพื่อทำให้งานกฐินนี้เป็นโอกาสที่พิเศษ นอกจากนี้หลวงพ่อวีรธัมโมและอาจารย์สุทันโตก็ได้ปรับเปลี่ยนตารางเวลาของท่านเองเพื่อมาช่วยงาน และได้แสดงพระธรรมเทศนาในครั้งนี้ด้วย

อนึ่ง ในงานกฐินปีนี้ ทางวัดได้รับปัจจัยจากการบริจาคมากกว่าที่เคยได้รับในงานกฐินตามปกติ เป็นจำนวนกว่าสามเท่า และขณะนี้ทางวัดมีปัจจัยมากเกินพอสำหรับก่อสร้างและตกแต่งที่พักสำหรับพระภิกษุสงฆ์อาวุโส (สันติวิหาร) ทางวัดจึงขอขอบคุณและอนุโมทนากับทุกๆท่านที่มีส่วนทำให้โครงการนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้

แต่สิ่งที่อาตมารู้สึกขอบคุณมากที่สุด ไม่ใช่ “สิ่งที่เกิดขึ้น” แต่เป็น “วิธีที่เราทุกคนทำให้มันเกิดขึ้น” พระพุทธเจ้าได้กล่าวสรรเสริญความสามัคคีในหมู่คณะ ในการพบปะกัน, ทำงานร่วมกัน, และจากกันด้วยความสามัคคี ดังนั้นเราจึงได้รับคำสอนให้รักษามิตรภาพและความสามัคคีของหมู่คณะทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในงานกฐินปีนี้มีผู้คนมากมายมาร่วมงาน และเราได้พบกับเพื่อนๆที่ไม่ได้มาเยี่ยมวัดอภัยคีรีเป็นเวลาถึงสามปีหรือมากกว่านั้น ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงพิธีกฐิน อาจจะมีบางท่านที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับการทำสิ่งต่างๆ แต่ถ้าทุกๆฝ่ายปล่อยวางได้ พวกเราก็จะสามารถทำงานต่อไปได้ด้วยจิตใจที่มีความสุข งานกฐินนี้เปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้แสดงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาด้วยการถวายทานและมอบความเอื้ออาทร, ขันติ, และความเมตตาต่อกัน ตัวอาตมาเองก็รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถจัดเวลามอบความใส่ใจให้แก่ทุกๆท่านได้มากนัก

หลังจากพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว คณะสงฆ์ได้ใช้เวลาในช่วงบ่ายเพื่อเย็บผ้ากฐิน โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด เป็นเวลา 6 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการเย็บผ้ากฐินโดยใช้จักรเย็บผ้า ในขณะที่คณะสงฆ์กำลังเย็บผ้ากฐินไปได้ครึ่งทาง หลวงพ่อปสันโนก็ได้แวะเข้ามาให้กำลังใจแก่คณะสงฆ์ และถ้าหากผู้ใดสงสัยว่าทำไมการเย็บผ้ากฐินด้วยมือถึงสำเร็จลงได้ในช่วงเวลาอันสั้นนัก คำตอบคือ เพราะพระทุกรูปสามารถช่วยกันเย็บชิ้นส่วนต่างๆของผ้ากฐินหลายๆชิ้นได้ในเวลาเดียวกัน! โดยขั้นตอนต่างๆมีดังนี้:

  • ขีดเส้นและตัดผ้า
  • แบ่งผ้ากฐินเป็น 5 ชิ้น และให้พระสงฆ์สองรูปช่วยกันเย็บเส้น “กุสิ” บนผ้าแต่ละชิ้น
  • เย็บผ้าทั้งห้าชิ้นเข้าด้วยกัน
  • พระสงฆ์ทุกรูปเข้าร่วมเย็บขอบผ้ากฐินด้วยกัน (ดูภาพประกอบ)
  • ย้อมผ้าด้วยสีย้อมจากพืชที่ทำในเมืองไทย และอบผ้าให้แห้งในเครื่องอบ

งานกฐินนี้จบลงในเวลาประมาณ 21 นาฬิกา ด้วยพิธีถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่ได้รับเลือกให้รับผ้านั้นในปีนี้ (คือตัวอาตมาเอง) ขนาดและสีของผ้านั้นดีเยี่ยม เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความพิถีพิถันในการตัดเย็บด้วยมือ

การร่วมงานกันเช่นนี้ช่วยทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ในอเมริกา และถึงแม้ทางวัดจะวางรากฐานมาได้ 26 ปีแล้ว แต่รากเหล่านั้นย่อมต้องการการดูแลเพื่อที่จะได้ไม่เหี่ยวเฉาลง งานกฐินในปีนี้ทำให้อาตมาคิดว่า ต้นโพธิ์ต้นนี้จะยังคงดำรงชีพอยู่ในสถานที่แห่งนี้ต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลานี้

ด้วยความขอบคุณและอนุโมทนา - ญาณิโก ภิกขุ

;